ตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง

  • การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม 
    (ที่มา: ข้อเสนอแนะการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ)
        โรคมะเร็งเต้านมเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญของสตรีทั่วโลก ในปัจจุบันพบว่ามีอุบัติการณ์สูงเป็นอันดับหนึ่งของสตรีไทยและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน มะเร็งเต้านมสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกช่วยทำให้การรักษาได้ผลดี เพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้สูงขึ้น และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็ง การตรวจคัดกรองเพื่อค้นหามะเร็งเต้านมให้พบตั้งแต่ระยะเริ่มแรกนั้นจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด วิธีการตรวจคัดกรองสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ การตรวจเต้านมด้วยตนเอง (breast self examination) การตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรม (clinical breast examination) และการตรวจด้วยเครื่องถ่ายภาพรังสีเต้านม (mammography) 
        คำแนะนำในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ
        1. ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ควรได้รับการสอนการตรวจเต้านมด้วยตนเองที่ถูกวิธีและควรเริ่มตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละครั้ง รวมทั้งควรมีการตรวจโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรม อย่างน้อยทุก 3 ปี
        2. ผู้หญิงที่มีอายุ 40-69 ปีขึ้นไป
และไม่มีอาการ นอกจากการตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำแล้ว ควรได้รับการตรวจโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมทุก 1 ปี และตรวจด้วยเครื่องถ่ายภาพรังสีเต้านม (mammography) ทุก 1-2 ปี โดยอาจใช้การตรวจอัลตร้าซาวด์ร่วมด้วยในบางราย
        ทั้งนี้คำแนะนำดังกล่าวสำหรับคนไข้กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงควรปรึกษาแพทย์ถึงอายุและความถี่ของการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม โดยผู้ที่มีความเสี่ยงสูงได้แก่  มีประวัติญาติสายตรง ได้แก่ มารดา พี่สาว/น้องสาว และบุตรเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งที่รังไข่ ผู้ที่มีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม (invasive cancer or ductal carcinoma in situ) ผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยการฉายแสงบริเวณหน้าอก ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคเป็น Hodgkin’s disease หรือ non-Hodgkin lymphoma เป็นต้น ผู้ที่มีประวัติทำ breast biopsy แล้วมีผลเป็น atypical ductal hyperplasia, lobular neoplasia หรือผู้ที่ได้รับประทานฮอร์โมนเสริมทดแทนวัยหมดประจำเดือนเป็นประจำเกินกว่า 5 ปี
        โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเปิดให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยวิธี Mammorgraphy สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง หรือโทรสอบถามข้อมูลได้ที่ **********

          

     

  • การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก  
    (ที่มา: แนวทางการตรวจคัดกรอง วินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2561)

        จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งเต้านมในสตรีไทย ซึ่งมะเร็งปากมดลูกสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกช่วยทำให้การรักษาได้ผลดี เพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้สูงขึ้น และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งเช่นเดียวกับมะเร็งเต้านม โดยโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเปิดให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยวิธีเซลล์วิทยา (Pap smear หรือ liquid-based cytology) ซึ่งควรเริ่มตรวจในสตรีที่มีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป หากผลตรวจไม่พบความผิดปกติ ควรตรวจซ้ำทุก 2-3 ปี

 

การตรวจเต้านมด้วยตนเอง (ข้อมูลจากโครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่า ต้านภัยมะเร็งเต้านม)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้