ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้นสำหรับภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ

Last updated: 15 เม.ย 2563  |  2248 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้นสำหรับภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ

คำนิยาม

     ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ (dyslipidemia) เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับไขมันในเลือดต่างไปจากเกณฑ์ที่เหมาะสม เป็นผลให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ (coronary heart disease) โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) และโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (peripheral arterial disease)

 

ชนิดของไขมัน

     1. คอเรสเตอรอล (cholesterol) คือปริมาณไขมันทั้งหมด ได้แก่ Triglyceride LDL และ HDL

     2. ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) คือไขมันที่ได้รับจากอาหารที่ทานเข้าไป โดยร่างกายจะสามารถสร้างไตรกลีีเซอไรด์มากขึ้นถ้าได้รับพลังงานจากอาหารมากเกินไป หากระดับไตรกลีเซอไรด์สูงกว่า 1,000 mg/dL อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะตับอ่อนอักเสบมากขึ้น

     3. Low density lipoprotein (LDL) เป็นไขมันเลว เป็นตัวนำพาไขมันคอเลสเตอรอลไปส่วนต่างๆ ของร่างกาย หากร่างกายมี LDL ปริมาณสูงเกินความจำเป็น LDL จะไปเกาะอยู่ที่หลอดเลือดทั่วร่างกาย ซึ่งอาจมีผลทำให้หลอดเลือดตีบและอุดตัน นำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง

     4. High density lipoprotein (HDL) เป็นไขมันดี ช่วยนำคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดกลับไปทำลายที่ตับและขับออกจากร่างกาย



คำแนะนำ

     - หากพบว่าระดับไขมันในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติควรตรวจซ้ำทุก 1-3 ปี

     - หากพบว่าระดับ LDL-C อยู่ในเกณฑ์ผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ และหลีกเลี่ยงอาหารประเภทไขมันสัตว์ หมูสามชั้น เนย เนื้อสัตว์ที่มีมันมาก หนังสัตว์  ไส้กรอก ไข่แดง เครื่องในสัตว์ หอยนางรม เค้ก คุกกี้ ไอศกรีม ชีส และกะทิ เป็นต้น

     - หากพบว่าระดับ Triglyceride อยู่ในเกณฑ์ผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ และหลีกเลี่ยงการรับประทานของหวาน หรืออาหารที่มีน้ำตาลมาก เช่น เครื่องดื่มน้ำอัดลม เครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลปริมาณมาก ขนมขบเคี้ยวต่างๆ ขนมทองหยิบทองหยอด ฝอยทอง คุกกี้ ไอศกรีม เป็นต้น อาหารจำพวกข้าว ก๋วยเตี๋ยว ซึ่งเป็นอาหารหลัก ควรลดปริมาณลงให้เหลือไม่เกิน ๒-๓ ทัพพีต่อมื้อ

     - การออกกำลังกาย

     การออกกำลังกายช่วยให้ระดับไตรกลีเซอไรด์และโคเลสเตอรอลลดลง เพิ่มระดับไขมันดี HDL โดยการออกกำลังกายควรเริ่มออกกำลังกายแต่น้อยๆ แล้ว จึงค่อยๆ เพิ่มขึ้น โดยการออกกำลังกายที่ถูกต้องควรประกอบด้วย

     1. ความสม่ำเสมอคือทุกวันหรือวันเว้นวัน อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง

     2. ระยะเวลาออกกำลังนานเพียงพอคือครั้งละ 30 ถึง 45 นาที

     3. ความหนักของการออกกำลังกายพอเหมาะ โดยทั่วไปควรออกกำลังกายความหนักระดับปานกลาง (หมายถึงออกกำลังกายจนชีพจรเต้นร้อยละ 50-70  ของชีพจรสูงสุดตามอายุ (อัตราชีพจรสูงสุดคำนวณจาก 220 – อายุในหน่วยปี) หรือยังสามารถพูดเป็นประโยคต่อเนื่องได้) แต่ทั้งนี้ความหนักของการออกกำลังกายควรพิจารณาตามสุขภาพพื้นฐานของแต่ละคนด้วย

     4. การออกกำลังกายทุกครั้งต้องมีการอุ่นเครื่องก่อนออกกำลังกาย และผ่อนคลายหลังการออกกำลังกาย

     - การรับประทานอาหาร

     1. ควรปรุงอาหารด้วยน้ำมันพืชที่สกัดจากถั่วเหลือง ข้าวโพด เมล็ดดอกทานตะวันหรือดอกคำฝอย รำข้าว มะกอก

     2. เลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยการทอด รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้ไขมันที่ได้รับการแปรรูปให้แข็ง เช่น เนยเทียม เนยขาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ทำจากน้ำมันที่มีกรด ไขมันอิ่มตัวมาก เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม เนื่องจากมีปริมาณ trans fatty acid สูง จะทำให้ระดับ LDL เพิ่มสูงขึ้นด้วย

     3. งดเครื่องในสัตว์และหนังสัตว์ทุกชนิด

     4. อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงหรือรับประทานเล็กน้อยเป็นครั้งคราวได้แก่ อาหารทะเล เนื้อสัตว์ติดมันและหนัง ไข่แดง และเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม โบโลน์ยา แหนม หมูยอ กุนเชียง

     5. อาหารที่รับประทานได้ประจำได้แก่ เนื้อปลาทุกชนิด ไก่ เป็น หมู เนื้อ ที่ไม่ติดหนังและมัน ปริมาณที่ควรรับประทานคือวันละ 2-4 ขีด หรือเนื้อสัตว์สุก ประมาณ 4-6 ช้อนโต๊ะต่อมื้อ

     6.ควรรับประทานผักและผลไม้ทุกมื้อ

     7. ผู้ที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์

     - การหยุดบุหรี่

     แนะนำให้หยุดบุหรี่ เพราะนอกจากการสูบบุหรี่ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดและหัวใจแล้ว ยังมีผลทำให้ระดับไขมันดี (HDL-C) ลดลงด้วย

 

นพ.วิรรัฐ จินาทองไทย พ.บ., ว.ว. (อายุรศาสตร์)

(ข้อมูลจากแนวทางการดูแลรักษาความผิดปกติของระดับไขมันในเลือด สมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้