ศูนย์รังสีวิทยา
image
ตรวจเอกซเรย์ทั่วไประบบดิจิตอล 
ให้บริการตรวจเอกซเรย์ทั่วไป ได้แก่ ระบบกระดูก ทรวงอก ช่องท้องและระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
เปิดให้บริการ.  • วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.30 - 20.30 น.
              • วันเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30 - 12.30 น.
การเตรียมตัวก่อนการตรวจ  สามารถตรวจได้ทันที โดยไม่ต้องงดน้ำงดอาหาร

การตรวจพิเศษทางรังสีวิทยา
1. ตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasonography)
เปิดให้บริการ วันอังคาร – พฤหัสบดี เวลา 9.00 - 12.00 น.

• การตรวจบริเวณช่องท้องส่วนบน สามารถดูอวัยวะต่างๆได้ ดังนี้ ตับ ม้าม ตับอ่อน ไต เพื่อตรวจดูขนาดของอวัยวะ, ตรวจหาก้อน หรือความผิดปกติแต่กำเนิด, ตรวจดูการเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการอักเสบถุงน้ำดี ทางเดินน้ำดี เพื่อตรวจหานิ่วในถุงน้ำดี ติ่งเนื้อหรือเนื้องอกของถุงน้ำดี การอักเสบของถุงน้ำดี  ตรวจหานิ่วในทางเดินปัสสาวะตรวจหลอดเลือดของตับ เช่น ในกรณีคนไข้ตับแข็ง ตรวจหลอดเลือดของไต เช่น ในกรณีคนไข้ที่มีความดันโลหิตสูง ตรวจหลอดเลือดแดงใหญ่ของช่องท้องเพื่อดูการตีบตัน หรือโป่งพอง การเตรียมตัวก่อนการตรวจ  ต้องงดอาหารอย่างน้อย 6 - 8ชั่วโมงก่อนการตรวจ เพราะอาหารจะทำให้ถุงน้ำดีหดตัวขับน้ำดี ออกมา ทำให้เห็นถุงน้ำดีไม่ชัดเจน

• การตรวจบริเวณช่องท้องส่วนล่าง ตรวจหานิ่วหรือก้อนเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ ตรวจมดลูก รังไข่ เพื่อดูขนาด ดูก้อนเนื้องอกหรือถุงน้ำ ตรวจต่อมลูกหมาก เพื่อดูลักษณะของต่อมลูกหมากที่โต หรือก้อนเนื้องอก ตรวจถุงอัณฑะและลูกอัณฑะ เพื่อดูลักษณะของก้อน การอักเสบ การบิดตัวของลูกอัณฑะ หลอดเลือดที่ผิดปกติ ช่วยในการวินิจฉัยไส้ติ่งอักเสบ การเตรียมตัวก่อนการตรวจ   ควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้มีน้ำในกระเพาะปัสสาวะมากพอที่จะดันลำไส้ขึ้นไปส่วนบน ทำให้เห็นอวัยวะต่างๆเช่น มดลูก รังไข่ ต่อมลูกหมาก ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในกรณีสงสัยไส้ติ่งอักเสบ แพทย์จะพิจารณาว่าผู้ป่วยสามารถดื่มน้ำได้หรือไม่

• การตรวจบริเวณคอ ตรวจดูการตีบหรือตันของหลอดเลือดแดงบริเวณคอที่ขึ้นไปเลี้ยงสมอง ต่อมน้ำลาย สามารถตรวจดูก้อนในต่อมน้ำลาย การอักเสบของต่อมน้ำลาย นิ่วในท่อน้ำลาย ต่อมไทรอยด์ สามารถตรวจดูต่อมไทรอยด์โต ก้อนเนื้อ ถุงน้ำ การอักเสบ ก้อนที่คอ สามารถตรวจดูว่าก้อนที่พบนั้นเป็นต่อมน้ำเหลือง ฝี ถุงน้ำ หรือก้อนเนื้องอกอื่นๆ การเตรียมตัวก่อนการตรวจ  สามารถตรวจได้ทันที ไม่ต้องเตรียมตัว
 
• การตรวจเต้านม ตรวจหาก้อนเนื้อหรือถุงน้ำทั้งที่คลำได้และคลำไม่ได้ และยังสามารถให้รายละเอียดได้ว่า ก้อนที่ตรวจพบนั้นมีความน่าจะเป็นก้อนเนื้อร้าย หรือไม่ การเตรียมตัวก่อนการตรวจ  สามารถตรวจได้ทันที ไม่ต้องเตรียมตัว

• การตรวจกล้ามเนื้อและข้อ ดูการอักเสบของกล้ามเนื้อ ฝี ก้อนเนื้องอก ก้อนเลือด ถุงน้ำ ดูการอักเสบ การฉีกขาด หรือการถูกรัดของเส้นเอ็น ดูน้ำหรือเลือดที่อยู่ในข้อ การเตรียมตัวก่อนการตรวจ   สามารถตรวจได้ทันที ไม่ต้องเตรียมตัว

• การตรวจหลอดเลือดของแขนขา ตรวจดูการตีบหรือตันของหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ พร้อมทั้งติดตามผลการรักษา ตรวจดูหลอดเลือดขอด การเตรียมตัวก่อนการตรวจ  สามารถตรวจได้ทันที ไม่ต้องเตรียมตัว

                  

2. แมมโมแกรม (Mammography)
เปิดให้บริการ วันอังคาร – พฤหัสบดี เวลา 9.00 - 12.00 น.
 
การตรวจ แมมโมแกรม เป็นการตรวจทางรังสีชนิดพิเศษ คล้ายการตรวจเอกซเรย์ มีประสิทธิภาพในการตรวจมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ทำให้การรักษาได้ผลดี และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้หญิงจากการเป็นมะเร็งเต้านม การตรวจแมมโมแกรม ซึ่งเป็นวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่ดีที่สุดในปัจจุบัน สามารถตรวจพบหินปูนที่มีลักษณะผิดปกติในเต้านม หรือรอยโรคที่มีขนาดเล็กได้ การเตรียมตัวก่อนตรวจ ห้ามทาโลชั่น แป้งฝุ่น บริเวณเต้านมและรักแร้ รวมถึงยาและสเปรย์ระงับกลิ่นตัว หากเคยตรวจแมมโมแกรมมาก่อน ควรนำผลตรวจภาพแมมโมแกรมเดิม เพื่อมาเปรียบเทียบดูความเปลี่ยนแปลง หากมีอาการผิดปกติของเต้านม ควรแจ้งให้รังสีแพทย์/นักรังสีการแพทย์ที่ทำการตรวจทราบ


3. เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT SCAN)
เปิดให้บริการ วันพฤหัสบดี เวลา 9.00 - 12.00 น.
 
• เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของสมอง เพื่อตรวจวินิจฉัยเกี่ยวกับโรคของหลอดเลือดสมอง หรือเนื้องอก
• เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของทรวงอก เพื่อตรวจวินิจฉัยเกี่ยวกับเนื้องอกหรือการติดเชื้อของปอด หรือตรวจหลอดเลือดของหัวใจ
• เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของช่องท้อง เพื่อตรวจหาสาเหตุความผิดปกติของอวัยวะในช่องท้อง เช่นตับ ทางเดินอาหารและทางเดินปัสสาวะ ในเรื่องของเนื้องอก การอักเสบ การติดเชื้อ เป็นต้น
• เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของหลอดเลือด
• เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของกระดูกในภาวะอุบัติเหตุ เพื่อตรวจหากระดูกหักในส่วนที่ตรวจได้ยากจากการเอกซเรย์ธรรมดาเช่นกระดูกหักบริเวณใบหน้า
การเตรียมตัวก่อนการตรวจ งดอาหาร น้ำ และเครื่องดื่มทุกชนิด  8 ชั่วโมงก่อนตรวจ


 
4. การตรวจพิเศษระบบทางเดินปัสสาวะ (IVP: Intravenous Pyelography)
เปิดให้บริการ วันพฤหัสบดี เวลา 9.00 - 12.00 น.
เป็นการตรวจพิเศษทางรังสี เพื่อตรวจดูการทำงานและความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ (ประกอบด้วยไต ท่อไต และกระเพาะปัสสาวะ) โดยการฉีดสารทึบรังสี เข้าทางหลอดเลือดดำ แล้วถ่ายภาพเอกซเรย์ที่เวลาต่างๆ 
การเตรียมตัวก่อนการตรวจ ทานยาระบาย เวลา 20.00 น. ก่อนวันตรวจ 1 วัน และงดอาหาร น้ำ และเครื่องดื่มทุกชนิด  8 ชั่วโมงก่อนตรวจ
 
5. การตรวจมวลกระดูก (Bone Mineral Density (BMD): Dual-energy X-ray Absorptiometry, DXA)
เปิดให้บริการ วันพฤหัสบดี เวลา 9.00 - 12.00 น.
 
 
ติดต่อสอบถาม
ศูนย์รังสีวิทยา โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โทร 045-353909 ต่อ 5946-5947

 
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้